เกี่ยวกับโครงการ

ธนาคารปูม้า

ปูม้าเป็นทรัพยากรสัตว์น้ำที่มีความสำคัญทั้งกับระบบเศรษฐกิจ-สังคมของชาวประมง และระบบเศรษฐกิจ-สังคมของประเทศไทย ผลผลิตปูม้าจากธรรมชาตินอกจากจะเป็นแหล่งอาหาร และแหล่งรายได้ที่สำคัญของชาวประมงท้องถิ่นแล้ว ยังเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปที่ส่งออกต่างประเทศสร้างรายได้ให้กับประเทศไทยเป็นมูลค่ามาก

มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณีร่วมกับเครือข่ายนักวิจัยได้ดำเนินโครงการวิจัย “การจัดการความรู้เพื่อการขยายผลธนาคารปูม้าในพื้นที่จังหวัดตราด” ระยะที่หนึ่งของปีงบประมาณ 2561 ภายใต้กิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัย การจัดการความรู้การวิจัยเพื่อการใช้ประโยชน์ในการขยายผลธนาคารปูม้าเพื่อ “คืนปูม้าสู่ทะเลไทย” สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) มาระยะหนึ่งแล้วนั้น ผลการดำเนินการ โครงการฯ ได้ดำเนินการจัดตั้งธนาคารปูม้าในพื้นที่จังหวัดตราดได้จำนวน 6 ธนาคาร ผลการดำเนินงานของธนาคารเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ และสามารถผลิตลูกปูแรกฟักเพื่อปล่อยสู่ธรรมชาติ จากแม่ปูไข่นอกกระดองที่เข้าสู่ธนาคารตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ในโครงการ

ขยายผลการดำเนินการธนาคารปูม้าให้เพิ่มมากขึ้น

เพื่อเป็นการต่อยอด และขยายผลการดำเนินการธนาคารปูม้าให้เพิ่มมากขึ้นในพื้นที่ชายฝั่งภาคตะวันออก และเป็นการดูแล ติดตาม ส่งเสริม เพื่อประกันถึงความยั่งยืนธนาคารปูม้าที่ได้จัดตั้งขึ้น คณะวิจัยจึงได้ดำเนินการจัดทำโครงการ “การจัดการความรู้เพื่อการขยายผลธนาคารปูม้าในพื้นที่จังหวัดตราด ระยะที่ 2” ขึ้น เพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์ดังกล่าว สำหรับในการดำเนินงานระยะที่สองนี้เป็นการจัดตั้งธนาคารปูม้าเพิ่มเติมจำนวน 11 ธนาคาร รวมทั้งจะมีการติดตาม ดูแล และส่งเสริมการดำเนินงานของธนาคารปูม้าเดิม 6 ธนาคารอย่างต่อเนื่อง

ส่งเสริมให้ธนาคารปูม้าที่ดำเนินการโดยชุมชนประมงพื้นที่ชายฝั่งจังหวัดภาคตะวันออกสามารถดำเนินการได้อย่างมั่นคง ยั่งยืน เป็นรากฐานการพัฒนาของระบบเศรษฐกิจ-สังคมที่ดีและมั่นคงของชุมชนประมงชายฝั่งภาคตะวันออกต่อไป

การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องกับปูม้า

ขยายผลองค์ความรู้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องกับปูม้าในพื้นที่ธนาคารปูม้าที่มีศักยภาพ การเพิ่มช่องทางการตลาดของผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชน ให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่รับประทานได้ง่าย รับประทานได้ทุกเพศวัย