ขอบเขตการดำเนินงานของโครงการ
การดำเนินการของโครงการวิจัยในระยะที่ 2 นี้ คณะวิจัยจะดำเนินการร่วมมือกับชุมชน และภาคีเครือข่าย ติดตาม ดูแล ส่งเสริม การดำเนินงานของธนาคารปูม้าชุมชนเดิมที่ได้จัดตั้งขึ้นจากโครงการฯ ระยะที่ 1 จำนวน 6 ธนาคาร รวมทั้งจะดำเนินการจัดตั้งธนาคารปูม้าชุมชนเพิ่มจำนวน 10 ธนาคาร โดยพัฒนาต่อยอดธนาคารปูม้าเดิมให้เป็นศูนย์เรียนรู้ธนาคารปูม้าเพิ่มจำนวน 2 แห่ง จากนั้นนำองค์ความรู้ทางวิชาการ การขยายผลการวิจัยและนวัตกรรม ถ่ายทอดสู่ธนาคารปูม้าเป้าหมายที่ได้จัดตั้งขึ้น ทั้งนี้การดำเนินการของโครงการระยะที่สองนี้จะดำเนินประเมินผลกระทบของการทำธนาคารปูม้าต่อผู้เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทาน และมีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ต่อยอดจากการดำเนินการธนาคารปูม้า เพื่อส่งเสริมความยั่งยืนของธนาคารปูม้า เช่น การจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน การพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน การเพิ่มช่องทางการตลาดของผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชน เป็นต้น รวมทั้งการเพิ่มอัตรารอดของลูกปูม้าโดยสำรวจพื้นที่ปล่อยที่เหมาะสมในพื้นที่จังหวัดตราด
คณะวิจัยจะดำเนินการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ รวมทั้งชุมชน และภาคีเครือข่ายต่าง ๆ เพื่อพัฒนากิจกรรมเสริมความยั่งยืนต่าง ๆ เพื่อพัฒนามูลค่าเพิ่มเชิงเศรษฐกิจ-สังคมตามศักยภาพของชุมชน โดยจะส่งเสริมให้มีการบูรณาการร่วมกันระหว่างกิจกรรมธนาคารปูม้า การท่องเที่ยว การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จนสามารถเพิ่มระดับความเข้มแข็งของชุมชนได้ตามศักยภาพของชุมชน สร้างกระบวนการการรับรู้ของสมาชิกภายในชุมชนและบุคคลอื่นนอกชุมชน รวมทั้งติดตาม ดูแล ส่งเสริม การดำเนินงานของธนาคารปูม้าชุมชนเดิมที่ได้จัดตั้งขึ้นจากโครงการฯ จำนวน 41 ธนาคาร ประเมินผลกระทบของการทำธนาคารปูม้าต่อผู้เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทานด้วย โดยแสดงความเชื่อมโยงของวัตถุประสงค์ เป้าหมาย และตัวชี้วัดของโครงการ